บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วซึ่งถึงแก่ความตาย ในฐานะทายาทโดยธรรมได้หรือไม่ และจะมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่

2199 Views
ป.พ.พ.มาตรา 1627 มีหลักว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้” และมาตรา 1629 มีหลักว่า “ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ (1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ทั้งนี้ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635” จากคำถามดังกล่าวข้างต้น ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ บิดาจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของบุตรผู้ตาย และไม่มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551)

บทความอื่นๆ