แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีความผิดฐานใด

721 Views
“สวัสดีครับ ผมเป็นตำรวจ เราตรวจพบว่าพัสดุที่ส่งให้คุณเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย ตอนนี้คุณเป็นผู้ต้องสงสัยว่าพัวพันกับคดีค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน จึงขอตรวจสอบข้อมูลบัญชีว่าจะพอช่วยเหลืออะไรได้บ้าง แต่คุณต้องบอกข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด และโอนค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบให้กับเราก่อน หากตรวจสอบแล้วไม่เกี่ยวข้อง เราจะคืนเงินให้กับคุณในภายหลัง” หรือ “สวัสดีครับ ผมโทรจากธนาคารนะครับ บัญชีเงินฝากคุณถูกอายัด หากต้องการปลดล็อก คุณต้องไปทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มตามขั้นตอนที่เราบอกและอย่าเพิ่งวางโทรศัพท์จนกว่าจะทำรายการเสร็จนะครับ” หรือ “สวัสดีครับ ผมโทรจากธนาคารนะครับ เราตรวจพบว่าคุณมียอดใช้จ่ายบัตรเครดิตเมื่อคืนที่ต่างประเทศหลายครั้ง หากคุณไม่ได้ทำรายการเอง เราจะขอตรวจสอบข้อมูลบัญชีให้กับคุณ แต่ก่อนอื่นรบกวนขอข้อมูลส่วนตัวของคุณเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของบัญชีด้วยนะครับ” หรือ “สวัสดีครับ ผมโทรมาจากสรรพากรนะครับ คุณได้รับสิทธิ์ขอคืนภาษีเป็นกรณีพิเศษ แต่ต้องรีบทำรายการทันทีภายใน 10 นาทีนี้เพื่อรับเงินคืนที่ตู้เอทีเอ็มตามขั้นตอนที่เราบอกและอย่าเพิ่งวางโทรศัพท์จนกว่าจะทำรายการเสร็จนะครับ” หรือ “สวัสดีครับ ผมโทรมาจากห้างสรรพสินค้า XXX นะครับ คุณคือผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนเงินเป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับเราก่อนนะครับ ส่วนของรางวัล เราจะส่งให้กับคุณในภายหลัง” หรือ “สวัสดีครับ ผมโทรมาจากศาลนะครับ คุณถูกฟ้องเป็นคดี XXX และเรามีหมายศาลส่งไปถึงคุณ แต่ส่งให้ไม่ได้ รบกวนขอข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของคุณให้กับเราด้วยนะครับ” หรือ “สวัสดีครับ เมื่อสักครู่ผมโอนเงินผิดบัญชีไปเข้าบัญชีของคุณ ตอนนี้ผมได้แจ้งความไว้แล้ว รบกวนโอนเงินคืนมาให้ผมหน่อยแล้วผมจะไปถอนแจ้งความให้ครับ” ข้อความสนทนาข้างต้นนี้ เป็นเพียงอุบายส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหาย ซึ่งพวกเราน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังคงมีผู้ที่ถูกหลอกลวงอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นข่าวให้เห็นอยู่เป็นประจำ จึงมีคำถามว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีความผิดฐานใด 
 
ป.อ. มาตรา 342 มีหลักว่า “ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ (1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ (2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากคำถามดังกล่าวข้างต้น การที่ผู้กระทำความผิดร่วมกันใช้โทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยมีการแสดงตนว่าเป็นบุคคลอื่น (เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ) จนผู้เสียหายหลงเชื่อและยอมส่งมอบข้อมูลและทรัพย์สินให้ผู้กระทำความผิดกับพวก เป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นตามป.อ. มาตรา 342 (1) ยิ่งไปกว่านั้น หากในการหลอกลวงดังกล่าว มีการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไลน์ หรือเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นไลน์หรือเฟซบุ๊กของจริง กรณีนี้ย่อมมีความผิดฐานร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย
 
แอดมินขอแนะนำวิธีการป้องกันตัว เมื่อเราต้องรับสายโทรศัพท์ที่ไม่รู้จักดังนี้นะครับ
1. ตั้งสติและฟังอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่บอกข้อมูลใดๆ ก่อน และหากฟังแล้วเป็นเรื่องที่ผิดปกติหรือไม่แน่ใจ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่น่าจะเป็นความจริง และให้รีบวางสายทันที (หากมีสติ ก็จะไม่เสียสตางค์)
2. กรณีเกิดความไม่แน่ใจหรืออาจจะเชื่ออยู่บ้าง ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการติดต่อหรือโทรศัพท์สอบถามกับหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง
3. หากเราตกเป็นเหยื่อแล้ว กรณีโอนเงินไปแล้ว ให้รีบติดต่อธนาคารเพื่อขอระงับการโอนเงิน และรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อเข้าแจ้งความกับตำรวจโดยเร็วที่สุดต่อไป

บทความอื่นๆ