หนี้ที่ผิดนัดแล้วจะทำการโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่ และผู้รับโอนจะต้องมีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอนด้วยหรือไม่

336 Views
การโอนสิทธิเรียกร้อง คือ การที่เจ้าหนี้ตกลงยินยอมโอนสิทธิที่เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง มีผลให้บุคคลผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนเจ้าหนี้เดิม โดยมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เช่นเจ้าหนี้เดิม จึงมีคำถามว่า หนี้ที่ผิดนัดแล้วจะทำการโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่ และผู้รับโอนจะต้องมีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอนด้วยหรือไม่
 
ป.พ.พ. มาตรา 303 ว.1 และมาตรา 306 ว.1 มิได้บัญญัติว่าหนี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระแล้วจะโอนให้แก่กันไม่ได้ และผู้รับโอนจะต้องมีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอน ดังนั้น แม้การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับผู้รับโอนจะกระทำภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว และผู้รับโอนมิได้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ดังกล่าว ก็มิใช่เรื่องการซื้อขายความและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือและผู้รับโอนมีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 ว.1 แล้ว ย่อมมีผลสมบูรณ์และใช้ยันลูกหนี้ได้ ผู้รับโอนซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่มีอยู่จากลูกหนี้ได้ ผู้รับโอนจึงมีอำนาจฟ้องบังคับลูกหนี้ให้ชำระหนี้ดังกล่าวได้
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6334/2550)

บทความอื่นๆ