ภาพถ่ายสัญญากู้เงินจากโทรศัพท์มือถือซึ่งส่งทางอีเมลสามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องผู้กู้ได้หรือไม่
ภาพถ่ายสัญญากู้เงินจากโทรศัพท์มือถือซึ่งส่งทางอีเมลสามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องผู้กู้ได้หรือไม่
213 Views
นายแมคต้องการเปิดร้านขายของเล่นที่ศูนย์การค้าเมกา พลาซ่า แต่เนื่องจากติดแบล็กลิสต์เพราะเคยกู้เงินธนาคารแล้วไม่ชำระจึงต้องไปขอยืมเงินจากนายไมค์จำนวน 300,000 บาท หลังจากนายแมคได้เงินไปเรียบร้อยแล้ว นายไมค์จึงส่งสัญญากู้เงินจำนวน 300,000 บาทให้แก่นายแมคทางอีเมล โดยมีเงื่อนไขว่านายแมคจะต้องชำระเงินคืนแก่นายไมค์เดือนละ 30,000 บาท ทุกวันที่ 5 ของเดือน เป็นระยะเวลา 10 เดือน เริ่มชำระงวดแรกในเดือนพฤศจิกายน 2566 หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด นายไมค์มีสิทธิเรียกร้องเงินทั้งหมดคืนได้ทันที เมื่อนายแมคได้รับอีเมลแล้วจึงพริ้นท์สัญญาดังกล่าวออกมาลงลายมือชื่อของตนเองในช่องผู้กู้ ก่อนจะใช้โทรศัพท์ IPhone 15 Pro Max ความจุ 1TB สีไทเทเนียมธรรมชาติ (Natural Titanium) ที่เพิ่งซื้อมาถ่ายรูปสัญญาที่ลงนามแล้วส่งกลับไปทางอีเมลให้แก่นายไมค์ แต่เมื่อถึง 5 พฤศจิกายน 2566 นายแมคปฏิเสธที่จะชำระเงินกู้คืนให้แก่นายไมค์ โดยอ้างว่า นายไมค์จะใช้สัญญากู้ฉบับนี้ฟ้องร้องนายแมคไม่ได้ เพราะต้นฉบับสัญญาที่มีลายมือชื่อของผู้กู้ยังคงอยู่กับตนเอง จึงมีคำถามว่า นายไมค์จะใช้ภาพถ่ายสัญญากู้เงินฉบับนี้ฟ้องร้องนายแมคได้หรือไม่
ภาพถ่ายสัญญากู้ยืมที่นายแมคลงลายมือชื่อไว้ถือเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ลักษณะหนึ่งตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งมาตรา 8 ของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดว่า “ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง หรือกำหนดผลทางกฎหมายกรณีไม่ทำเป็นหนังสือ ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่มีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว” ดังนั้นกรณีนี้ แม้ต้นฉบับสัญญากู้ที่มีลายมือชื่อของผู้กู้จะยังคงอยู่กับนายแมคก็ตาม แต่ภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวก็ถือเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เพราะข้อมูลที่อยู่ในลักษณะภาพถ่ายสามารถนำกลับมาใช้ยืนยันความมีอยู่ของสัญญาได้โดยไม่ทำให้เนื้อความของข้อมูลดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป นายไมค์จึงใช้ภาพถ่ายสัญญากู้เงินฉบับนี้ฟ้องร้องนายแมคได้
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2563)
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ
ภาพถ่ายสัญญากู้ยืมที่นายแมคลงลายมือชื่อไว้ถือเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ลักษณะหนึ่งตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งมาตรา 8 ของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดว่า “ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง หรือกำหนดผลทางกฎหมายกรณีไม่ทำเป็นหนังสือ ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่มีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว” ดังนั้นกรณีนี้ แม้ต้นฉบับสัญญากู้ที่มีลายมือชื่อของผู้กู้จะยังคงอยู่กับนายแมคก็ตาม แต่ภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวก็ถือเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เพราะข้อมูลที่อยู่ในลักษณะภาพถ่ายสามารถนำกลับมาใช้ยืนยันความมีอยู่ของสัญญาได้โดยไม่ทำให้เนื้อความของข้อมูลดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป นายไมค์จึงใช้ภาพถ่ายสัญญากู้เงินฉบับนี้ฟ้องร้องนายแมคได้
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2563)
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ