วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ให้หยุดงานได้หรือไม่

285 Views
เป็นที่ทราบกันดีว่า วันแรงงานแห่งชาติ (May Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม (May) ของทุกปี ถือเป็นวันที่ระลึกถึงผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนและช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีคำถามว่า วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ให้หยุดงานได้หรือไม่
 
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 29  มีหลักว่า “ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด นายจ้างจะพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่นก็ได้ ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป อย่างไรก็ดี ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้” จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงอาจสรุปได้ว่า วันหยุดตามประเพณีประจำปีอย่างน้อย 13 วันที่นายจ้างจะต้องประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้านั้น จะต้องมีวันแรงงานแห่งชาติรวมอยู่ด้วย 1 วัน ส่วนอีก 12 วัน นายจ้างอาจเลือกเอาจากวันหยุดราชการ วันหยุดทางศาสนา หรือวันหยุดตามประเพณีท้องถิ่นก็ได้ หากวันแรงงานแห่งชาติตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ นายจ้างก็ต้องประกาศให้ลูกจ้างหยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป อย่างไรก็ดี หากนายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างก็ตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้หยุดในวันอื่นชดเชย หรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้ # ดังนั้น ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันแรงงานแห่งชาติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงาน และกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันดังกล่าว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงาน
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ