การระบายความคับข้องใจของตนเองในเฟซบุ๊กว่านายจ้างเอาเปรียบ และธุรกิจของนายจ้างกำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน หากนายจ้างทราบ จะเลิกจ้างทันทีได้หรือไม่

422 Views
เฟซบุ๊กเป็นบริการเครือข่ายทางสังคมที่มีสมาชิกอยู่ประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งผู้ใช้งานสามารถติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้อื่นผ่านกิจกรรม เช่น การโพสต์รูปภาพ คลิปวิดีโอ บทความ การตอบคำถาม หรือแม้แต่การไลฟ์วีดีโอแบบสดๆ อย่างไรก็ดี มีคนจำนวนมากที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นโลกคู่ขนานในการใช้ระบายความรู้สึกในการทำงาน จึงมีคำถามว่า การระบายความคับข้องใจของตนเองในเฟซบุ๊กว่านายจ้างเอาเปรียบ และธุรกิจของนายจ้างกำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน หากนายจ้างทราบ จะเลิกจ้างทันทีได้หรือไม่
 
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ว.1 มีหลักว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ทั้งนี้ หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย” จากคำถามข้างต้น เนื่องจาก เฟซบุ๊กเป็นสื่อออนไลน์สาธารณะที่ผู้ใช้งานใช้ในการติดต่อกับบุคคลอื่น และบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อความที่มีผู้เขียนลงบนเฟซบุ๊กได้ แม้ข้อความที่ลูกจ้างเขียนดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการระบายความคับข้องใจของตนเอง แต่ก็ทำให้ผู้อ่านข้อความเข้าใจได้ว่า นายจ้างเป็นนายจ้างที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เอาเปรียบลูกจ้าง และนายจ้างกำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน การเขียนข้อความดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารของนายจ้าง ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการของลูกค้า การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119(2) และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 นายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 8206/2560)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ