การที่ลูกจ้างซึ่งทำงานโรงแรมนำรถยนต์ส่วนตัวไปจอดบนอาคารจอดรถโดยไม่มีสิทธิแล้วแสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าห้อง Ballroom ต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อไม่ต้องเสียค่าจอด จะมีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ และกรณีดังกล่าวถือเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่

236 Views
ป.อ.มาตรา 341 มีหลักว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ตามปัญหา การที่ลูกจ้างแสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าห้อง Ballroom ต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อจอดรถยนต์โดยไม่ต้องเสียค่าจอดรถ กรณีนี้ลูกจ้างได้รับผลเพียงการบริการจอดรถเท่านั้น แต่หาได้ไปซึ่งทรัพย์สินแต่อย่างใดไม่ การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานอาญาฉ้อโกง และมิได้เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามมาตรา 119(2) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7264/2543)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ