การที่ผู้กระทำผิดใช้อุบายเข้าไปขอซื้อสินค้า เมื่อพนักงานในร้านเผลอจึงแอบหยิบสุราออกจากที่วาง หากเจ้าของร้านซึ่งอยู่อีกฝั่งของถนนแต่มองเห็นการลักทรัพย์โดยตลอด ผู้กระทำผิดจะมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์หรือไม่

354 Views
ปัจจุบันการจำหน่ายสุราต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 โดยกำหนดให้จำหน่ายได้เฉพาะ 2 ช่วงเวลา คือ 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น. ห้ามจำหน่ายในวันสำคัญทางศาสนาและวันเลือกตั้ง และห้ามจำหน่ายให้แก่บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ร้านสะดวกซื้อต่างๆ จึงมักจะมีป้ายแจ้งเตือนพนักงานในร้านและผู้ซื้อเพื่อมิให้ปฏิบัติผิดกฎหมาย การจะได้สุราในช่วงเวลาห้ามจำหน่ายหรือฝ่าฝืนข้อห้ามอื่น ผู้กระทำผิดจึงจำเป็นจะต้องใช้อุบายบางประการ มีปัญหาว่า การที่ผู้กระทำผิดใช้อุบายเข้าไปขอซื้อสินค้า เมื่อพนักงานในร้านเผลอจึงแอบหยิบสุราออกจากที่วาง หากเจ้าของร้านซึ่งอยู่อีกฝั่งของถนนแต่มองเห็นการลักทรัพย์โดยตลอด ผู้กระทำผิดจะมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์หรือไม่
 
มาตรา 336 ว.1 มีหลักว่า “ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท” จากหลักกฎหมายข้างต้น การฉกฉวยเอาซึ่งหน้า หมายถึงการยื้อแย่งไปซึ่งหน้า เป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่อยู่ที่ตัวหรืออยู่ใกล้ชิดกับตัวผู้ครอบครองทรัพย์ การที่เจ้าของร้านอยู่อีกฝั่งของถนน แม้จะมองเห็นเหตุการณ์โดยตลอด ลักษณะของการกระทำดังกล่าวก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้กระทำผิดเอาสุราไปต่อหน้าเจ้าของร้าน จึงไม่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10344/2550)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ