การรวมโฉนดที่ดินหลายแปลงเป็นโฉนดเดียว มีผลทำให้ภาระจำยอมเดิมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งแปลงใดกระจายไปอยู่ในทุกส่วนของโฉนดที่ดินฉบับใหม่ด้วยหรือไม่

69 Views
ป.พ.พ.มาตรา 1387 มีหลักว่า “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น” และ มาตรา 1392 มีหลักว่า “ถ้าภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง” จากหลักกฎหมายดังกล่าว ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่ตัดรอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเรียกว่าภารยทรัพย์ ในอันที่ต้องยอมรับกรรมบางอย่างด้วยการงดเว้นการใช้สิทธิในทรัพย์สินของตนเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่าสามยทรัพย์ จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด ตามปัญหาข้างต้น การรวมโฉนดที่ดินหลายแปลงเป็นโฉนดเดียว มิได้มีผลทำให้ภาระจำยอมเดิมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งแปลงใดกระจายไปอยู่ในทุกส่วนของโฉนดที่ดินฉบับใหม่ด้วย ภาระจำยอมที่ยังคงอยู่ในโฉนดที่ดินฉบับใหม่จึงมีอยู่เฉพาะในที่ดินส่วนที่เคยเป็นภารยทรัพย์เดิมเท่านั้น
ตัวอย่าง
เดิมที่ดินของนาย ก. โฉนดเลขที่ C ตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอม เรื่อง ทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคใด ๆ แก่ที่ดินของนาย ข. โฉนดเลขที่ F เมื่อนาย ก. รวมที่ดินของนาย ก. โฉนดเลขที่ A, B, C และ D เป็นแปลงเดียวกันเป็นโฉนดเลขที่ A ภาระจำยอมที่ยังคงอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ A ฉบับใหม่จึงมีอยู่เฉพาะในที่ดินส่วนที่เคยเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ C เดิมเท่านั้น ดังนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ A ที่มิใช่เป็นส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ C เดิม ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอมดังกล่าว และมิใช่เป็นกรณีที่ภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ ที่เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392
 
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2566)
 
# อ่านบทความย้อนหลังเพิ่มเติมได้ที่
• เว็บไซต์: https://lombonlawoffice.com
• เพจ Facebook: เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย

บทความอื่นๆ