กรณีที่นิติบุคคลตกเป็นผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจะให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลนั้นพิมพ์ลายนิ้วมือได้หรือไม่

79 Views
เนื่องจากบุคคลอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในคดีอาญา เมื่อมีการกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น นิติบุคคลจึงอาจเป็นผู้ต้องหาได้เช่นกัน มีคำถามว่า กรณีที่นิติบุคคลตกเป็นผู้ต้องหานั้น พนักงานสอบสวนจะให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลพิมพ์ลายนิ้วมือได้หรือไม่
 
- ป.วิ.อ.มาตรา 131 และ 132(1) กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจและหน้าที่ในการแสวงหาและรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อการทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของ หรือที่ทางอันสามารถอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ รวมทั้งการภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพวาด จำลอง หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น นอกจากนี้ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.2554 กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่จัดให้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญาทุกประเภท เว้นแต่ คดีลหุโทษ หรือคดีที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก รวมทั้งความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งได้เปรียบเทียบปรับแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ต้องหาปรากฎตัวต่อหน้า หลังจากแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาเพื่อนำไปประกอบกับพยานหลักฐานในคดี อย่างไรก็ดี กรณีที่นิติบุคคลตกเป็นผู้ต้องหานั้น แม้ ป.วิ.อ.มาตรา 7 ว.1 จะให้อำนาจพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งข้อเท็จจริงและข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบก็ตาม แต่เมื่อผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ใช่ผู้ต้องหาในฐานะส่วนตัว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสั่งหรือจัดให้บุคคลดังกล่าวพิมพ์ลายนิ้วมือแต่อย่างใด
 
# การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคลไม่ต่างจากการลงลายมือชื่อ ซึ่งแม้จะตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้กระทำผิด ย่อมต้องถือว่าผู้นั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ