การใช้เอกสารการกู้ยืมที่มีข้อความว่า “ผู้ยืมได้ยืมเงินสดเพื่อจะจ่ายค่าก่อสร้างให้ลุล่วงไปด้วยดีจำนวน 500,000 บาท กำหนดคืนให้หลังทอดกฐินวัดเรียบร้อยแล้ว และลงลายมือชื่อผู้ยืม” เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งที่ต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่

345 Views
เป็นที่ทราบกันดีว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นตราสารประเภทหนึ่งที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามข้อ 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ซึ่งหากไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ หรือปิดอากรแสตมป์แต่ไม่ได้ขีดฆ่า จะถือว่าเป็นตราสารที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์อันเป็นผลให้ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีคำถามว่า การใช้เอกสารการกู้ยืมที่มีข้อความว่า “ผู้ยืมได้ยืมเงินสดเพื่อจะจ่ายค่าก่อสร้างให้ลุล่วงไปด้วยดีจำนวน 500,000 บาท กำหนดคืนให้หลังทอดกฐินวัดเรียบร้อยแล้ว และลงลายมือชื่อผู้ยืม” เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งที่ต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่
 
คำว่า “ตราสาร” ตามประมวลรัษฎากรหมายถึง เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 28 ลักษณะ เช่น ตราสารเช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ หรือกู้ยืมเงิน เป็นต้น ตามปัญหาข้างต้น เอกสารการกู้ยืมที่มีข้อความว่า “ผู้ยืมได้ยืมเงินสดเพื่อจะจ่ายค่าก่อสร้างให้ลุล่วงไปด้วยดีจำนวน 500,000 บาท กำหนดคืนให้หลังทอดกฐินวัดเรียบร้อยแล้ว และลงลายมือชื่อผู้ยืม” นั้น เป็นเพียงหลักฐานในการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 ว.1 เท่านั้น แต่มิใช่สัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แต่อย่างใด
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2721/2548)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ