บุตรชายอายุ 19 ปี เป็นเสาหลักของครอบครัว มีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างถูกคนขับรถกระบะเมาแล้วขับฝ่าไฟแดงพุ่งชนจนเสียชีวิต มารดาจะฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานจากคนขับรถกระบะได้หรือไม่

447 Views
เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1563  และมาตรา 1567(3) มีหลักว่า “บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา และผู้ใช้อำนาจปกครอง กล่าวคือ บิดามารดาย่อมมีสิทธิให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูปได้” จึงมีคำถามว่า บุตรชายอายุ 19 ปี เป็นเสาหลักของครอบครัว มีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างถูกคนขับรถกระบะเมาแล้วขับฝ่าไฟแดงพุ่งชนจนเสียชีวิต มารดาจะฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานจากคนขับรถกระบะได้หรือไม่
 
ป.พ.พ.มาตรา 445 มีหลักว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้น บุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย” จากคำถามข้างต้น แม้ก่อนตายบุตรชายจะมีรายได้จากการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัวก็ตาม แต่ขณะถึงแก่ความตายบุตรชายมีอายุเพียง 19 ปี ซึ่งตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 บัญญัติว่าผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถ และมาตรา 49(2) บัญญัติว่า ผู้ขอใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะตามมาตรา 43(6/1) ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ผู้ตายจึงต้องห้ามมิให้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างซึ่งจัดเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะตามกฎหมายดังกล่าว การขับรถจักรยานยนต์รับจ้างของผู้ตายถือไม่ได้ว่าเป็นการทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูปตาม ป.พ.พ.มาตรา 1567(3) มารดาจึงไม่มีสิทธิใช้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรให้ทำงานดังกล่าว ฉะนั้น รายได้จากการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างจึงมิใช่รายได้ที่เกิดจากการที่ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่มารดาซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในครัวเรือนดังความที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 445 มารดาจึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5183/2537)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ