นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือเบี้ยเลี้ยงให้แก่นักศึกษาฝึกงานหรือไม่ และหากจ่ายแล้วจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมหรือไม่

469 Views
เป็นที่ทราบกันดีว่า สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีการกำหนดให้การฝึกงานของนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา โดยมีการส่งหนังสือหรือจดหมายเพื่อขอความอนุเคราะห์ไปยังผู้ประกอบการเพื่อให้รับนักศึกษาเข้าฝึกงาน จึงมีคำถามว่า นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือเบี้ยเลี้ยงให้แก่นักศึกษาฝึกงานหรือไม่ และหากจ่ายแล้วจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมหรือไม่
 
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ไว้หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร และคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ส่วนคำว่า “สัญญาจ้าง” หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ # การที่สถาบันการศึกษาส่งหนังสือหรือจดหมายเพื่อขอความอนุเคราะห์ไปยังผู้ประกอบการเพื่อให้รับนักศึกษาเข้าฝึกงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการทำงานจริงในตลาดแรงงาน หรือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาก่อนการสำเร็จการศึกษา แต่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการรับค่าจ้างหรือค่าตอบแทน นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับนักศึกษาฝึกงานจึงมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น แม้จะมีการให้ค่าจ้างหรือเบี้ยเลี้ยงแก่นักศึกษาฝึกงาน นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือนำส่งเงินสมทบประกันสังคมแต่อย่างใด
 
# เทียบเคียงเอกสารกรมสรรพากร เลขที่ข่าว ปชส.18/2547
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ