การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะลูกจ้างลาป่วยทุกเดือน รวมแล้วแต่ละปีเป็นเวลากว่า 40 วัน ซึ่งเกินสิทธิตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่ได้รับอนุญาตจากนายจ้าง การเลิกจ้างดังกล่าวถือว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่

384 Views
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 มีหลักว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา” ตามปัญหา การที่ลูกจ้างลาป่วยโดยไม่เว้นเดือนรวมแล้วแต่ละปีเป็นเวลากว่า 40 วันและยังลาป่วยเกินสิทธิตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง แสดงว่าสุขภาพของลูกจ้างไม่สมบูรณ์ แม้เป็นการลาป่วยโดยได้รับอนุญาตจากนายจ้าง และลูกจ้างยังสามารถทำงานต่อไปได้ ก็ถือได้ว่าลูกจ้างเจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงานอันเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3041/2531)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ