หนังสือมอบอำนาจที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ได้ลงวันที่ เดือน และปี กำกับไว้ด้วย ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหรือไม่

4555 Views
ป.รัษฎากร มาตรา 103 ได้ให้ความหมายของคำว่า "ขีดฆ่า" หมายความว่า "การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย..." จากความหมายข้างต้น การระบุวัน เดือน และปี พร้อมขีดฆ่าอากรแสตมป์ มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้ทราบว่าได้มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใดเท่านั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์มิให้นำไปใช้ได้อีก ดังนั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันที่ เดือนและปี กำกับไว้ด้วย ก็ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2556)
 
* ป.รัษฎากร มาตรา 118 "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114"
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ