การบังคับโทษปรับกับการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

204 Views
การบังคับโทษปรับอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งพนักงานอัยการจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่
 
เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามแบบพิมพ์ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่จะมีข้อห้ามตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และ 94 ตามปัญหา การบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจของรัฐเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเป็นอำนาจของศาลที่จะบังคับโทษปรับแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ.มาตรา 245 ว.1 โดยพนักงานอัยการมีอำนาจบังคับให้จำเลยชำระค่าปรับเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ในกรณีเช่นนี้ ศาลและพนักงานอัยการมิใช่เจ้าหนี้ของจำเลย อีกทั้งค่าปรับก็มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย แต่การชำระเงินค่าปรับหรือการบังคับโทษปรับนั้นเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้จำเลยชำระค่าปรับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ.มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เช่นเดียวกับหนี้เงินในคดีแพ่ง มิฉะนั้นแล้วการลงโทษทางอาญาจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญาจัดเป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยความผิดและโทษทางอาญาเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ ทั้งการกระทำความผิดนั้นยังได้ชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อมหาชนเป็นส่วนรวม จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งพนักงานอัยการจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่อย่างใด
 
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2559)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ