การที่นายจ้างปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานโดยลดจำนวนลูกจ้างลง โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่ลูกจ้างหรือไม่

1415 Views
โลกในยุค 5G มีการนำหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (IA) มาใช้แทนแรงงานคนกันมากขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายอาชีพถูกลดความสำคัญลง โดยมีการคาดการณ์กันว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อาชีพที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ พนักงานเสริฟในร้านอาหาร พนักงานแคชเชียร์ พนักงานบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล และนักวิเคราะห์ด้านการเงิน จึงมีคำถามว่า การที่นายจ้างปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานโดยลดจำนวนลูกจ้างลง โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่ลูกจ้างหรือไม่
 
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 121 มีหลักว่า “ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง ห้ามมิให้นำมาตรา 17 ว.2 มาใช้บังคับ และให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น  นอกจากลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย” จากคำถามข้างต้น การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุที่นายจ้างปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานโดยลดจำนวนลูกจ้างลง โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาแทนกำลังคน กรณีไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 121 นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้แก่ลูกจ้างแต่อย่างใด
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา 2630-2631/2547 และ 1396/2548)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ