การขับขี่รถฉุกเฉินนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่

503 Views
ปัจจุบันการเดินทางบนท้องถนนนั้นเปรียบเสมือนกับการผจญภัย ในแต่ละวันเราไม่มีทางรู้ว่าจะได้พบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือเพื่อนร่วมทางที่มีนิสัยการขับขี่อย่างไร ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต่างคนต่างต้องไปทำงาน เราอาจพบกับการขับรถบนไหล่ทาง เปิดไฟฉุกเฉินแบบไม่จำเป็น ขับรถช้าแต่แช่ขวา แซงซ้าย หรือขับปาดกันจนเป็นเรื่องปกติ การกระทำดังกล่าวที่ว่ามานั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้นเพราะไม่เคารพกฎจราจร อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงกลับมีรถอยู่ประเภทหนึ่งที่เรามักจะพบพฤติกรรมการขับรถที่ถือว่าผิดกฎจราจรเช่นกัน รถดังกล่าวนั้นคือ “รถฉุกเฉิน” จึงมีคำถามว่า การขับขี่รถฉุกเฉินนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(19) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “รถฉุกเฉิน” หมายถึง “รถดับเพลิง และรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกำหนดให้” การที่จะเป็นรถฉุกเฉินได้นั้นต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียก่อน ตามข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดเงื่อนไขในการใช้ไฟสัญญาณวับวาบ เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่น และเครื่องหมายแสดงลักษณะของรถฉุกเฉิน ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 นอกจากนี้ มาตรา 75 ได้กำหนดไว้ว่า “ในขณะที่ผู้ขับขี่ขับรถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้ (1) ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ (2) หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอด (3) ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ (4) ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร (5) ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวรถที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี” และมาตรา 76 ได้กำหนดว่า “เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ คนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้ (1) สำหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด (2) สำหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก (3) สำหรับผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยก ในการปฏิบัติตาม (2) และ (3) ผู้ขับขี่และผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี” และในส่วนของบทกำหนดโทษนั้น มาตรา 148 ได้กำหนดว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม...... มาตรา 76 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท...” จากกฎหมายดังกล่าวจึงอาจสรุปได้ว่า เมื่อพบรถฉุกเฉินผู้ขับขี่หรือบุคคลใดๆ จะต้องหลีกทางให้รถฉุกเฉินได้ใช้ทางและผ่านไปก่อนเสมอ ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 แล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความเอื้ออาทรในสังคมอีกด้วย อย่างไรก็ดี แม้รถฉุกเฉินจะมีสิทธิพิเศษกว่ารถประเภทอื่นๆ และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรบางประการก็ตาม แต่ก็เฉพาะกรณี “การขับไปปฏิบัติหน้าที่” เท่านั้น มิได้หมายความว่าผู้ขับขี่รถฉุกเฉินจะสามารถขับรถโดยประมาทอย่างไรก็ได้ เพราะหากไม่ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีแล้ว ผู้ขับขี่ย่อมต้องมีความผิดฐานขับรถโดยเจตนาหรือประมาทในทางอาญา และละเมิดในทางแพ่ง แล้วแต่กรณี เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป  นอกจากนี้ การใช้รถฉุกเฉินนอกหน้าที่ย่อมไม่ได้รับสิทธิพิเศษนี้แต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่มีสิทธิใช้ไฟสัญญาณวับวาบ เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่น และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรทุกประการ
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2510)

บทความอื่นๆ