รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลย

93 Views
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะและพินิจจำเลย พร้อมทั้งทำรายงานเสนอศาล รายงานของพนักงานคุมประพฤติถือเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาหรือไม่ และหากพนักงานโจทก์ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายรายงานดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาทำความเห็นและคำสั่งในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
 
รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยเป็นเอกสารที่พนักงานคุมประพฤติจัดทำขึ้นตามคำสั่งของศาล เพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวจำเลยในคดีอาญา เช่น ข้อมูลส่วนตัว พฤติกรรม สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อม และปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระทำความผิดของจำเลย รวมถึงความเห็นและข้อเสนอแนะของพนักงานคุมประพฤติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยศาลในการพิจารณาและใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือมาตรการที่เหมาะสมกับจำเลยเท่านั้น แต่มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และการกระทำความผิดของจำเลยนั้นเป็นอย่างไร รายงานของพนักงานคุมประพฤติจึงมิใช่พยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยความผิดของจำเลย และเนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีทั้งผลดีและผลร้ายต่อจำเลย ข้อเท็จจริงในชั้นพนักงานคุมประพฤติจึงเป็นข้อมูลที่เป็นความลับซึ่งตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559 ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ที่นำความลับนั้นไปเปิดเผย นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังจัดเป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผยตามมาตรา 15 (2) (3) (4) และ (6) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 อีกด้วย ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้พนักงานอัยการโจทก์คัดถ่ายรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13408/2553 และ 2996/2567)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ