กรณีขับขี่รถแล้วเกิดอุบัติเหตุตกหลุมพลิกคว่ำ เพราะสภาพพื้นผิวถนนชำรุดเสียหายมาก แต่ไม่มีการติดตั้งสัญญาณหรือเครื่องหมายแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบล่วงหน้า ใครต้องรับผิดชอบ

1076 Views
ปัจจุบันในแต่ละจังหวัดมีถนนที่เกิดขึ้นใหม่มากมาย และมีความซับซ้อน หากไม่ใช่คนในพื้นที่หรือมีความชำนาญในการใช้เส้นทางย่อมมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้เสมอจากสภาพพื้นผิวถนนที่ชำรุดเสียหาย หรือการไม่ปิดกั้นเส้นทาง หรือการไม่แจ้งจุดอันตราย ดังที่เป็นข่าวอยู่เป็นประจำ จึงมีคำถามว่า กรณีขับขี่รถแล้วเกิดอุบัติเหตุตกหลุมพลิกคว่ำ เพราะสภาพพื้นผิวถนนชำรุดเสียหายมาก แต่ไม่มีการติดตั้งสัญญาณหรือเครื่องหมายแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบล่วงหน้า ใครต้องรับผิดชอบ 
 
พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 10 และ 21 ประกอบกฎกระทรวงข้อ (6) (พ.ศ. 2541) ซึ่งออกตามความในพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหน้าที่บำรุงรักษา ตลอดจนกำกับ ตรวจตรา และควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงท้องถิ่น จากคำถามดังกล่าวข้างต้น เมื่อถนนพิพาทซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มีสภาพพื้นผิวถนนชำรุดเสียหายมาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงควรที่จะติดตั้งสัญญาณหรือเครื่องหมายแจ้งเตือน หรือติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยเพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะได้ทราบล่วงหน้าถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาพพื้นผิวถนน หรือได้ใช้ความระมัดระวังขณะสัญจรเส้นทางดังกล่าว เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่ได้ดำเนินการหรือมีมาตรการตามสมควรอันใด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ถนนในการสัญจรไปมา และไม่กำกับ ตรวจตรา และควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงท้องถิ่น ทั้งมิได้มีการบำรุงรักษาทางดังกล่าว ย่อมเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันเป็นเหตุให้รถของผู้ขับขี่ซึ่งขับมาในเส้นทางตามถนนพิพาทดังกล่าวประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ขับขี่ตามป.พ.พ.มาตรา 420 และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.767/2558)
 
การที่จะฟ้องหน่วยงานใด เราจะต้องดูว่าถนนเส้นดังกล่าวนั้นอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของใคร ซึ่งแอดมินรวบรวมมาให้ดังนี้ครับ
# ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ “กรมทางหลวง”
# ทางหลวงชนบท อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ “กรมทางหลวงชนบท”
# ทางหลวงท้องถิ่น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

บทความอื่นๆ