นายจ้างมีสิทธิหักเงินลูกจ้างที่มาทำงานสายได้หรือไม่

367 Views
ในชีวิตการทำงานของลูกจ้างทุกคน ต้องเคยมีสักครั้งที่มาทำงานสาย ส่วนเหตุผลในการมาทำงานสายนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามความจำเป็น ความสามารถในการสรรหาข้ออ้าง ความชำนาญ และชั่วโมงบินของลูกจ้างแต่ละคน ข้ออ้างที่ว่า เกิดอุบัติเหตุ รถเสีย รถไฟฟ้าขัดข้อง ไม่สบาย ตื่นสาย ลืมตั้งนาฬิกาปลุก หรือแม้แต่เหตุผลในการไปติดต่อราชการซึ่งลูกจ้างควรขอลากิจไป ล้วนแต่เป็นเหตุผลที่พวกเราเคยได้ยิน หรืออาจจะเคยใช้กันมาแล้วทั้งสิ้น แต่เหตุผลที่เป็นข้ออ้างสุดคลาสสิกตลอดกาลในการใช้แจ้งกับนายจ้างหรือหัวหน้างานนั้น คงจะหนีไม่พ้นข้ออ้างเรื่อง “รถติด” อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี การพิจารณาเรื่องการมาทำงานสายนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละที่ซึ่งไม่เหมือนกัน นายจ้างบางแห่งอาจมองเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ขอเพียงทำงานให้เสร็จก็พอ แต่บางแห่งอาจถือเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะแสดงถึงการไม่ใส่ในการทำงาน ความไม่เป็นมืออาชีพ และทำให้วัฒนธรรมขององค์กรต้องเสียไป จนอาจนำไปสู่การออกประกาศหรือกฎเกณฑ์เพื่อแจ้งให้ลูกจ้างรับทราบก่อนการหักค่าจ้าง จึงมีคำถามว่า นายจ้างมีสิทธิหักเงินลูกจ้างที่มาทำงานสายได้หรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 มีหลักว่า “ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่าย หรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือ (2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน หรือ (3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง หรือ (4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือ (5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม อย่างไรก็ดี การหักเงินตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณี ห้ามมิให้หักเกินร้อยละ 10 และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง” จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงอาจสรุปได้ว่า การหักค่าตอบแทนในการทำงาน ซึ่งหมายถึง ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดของลูกจ้างนั้น จะกระทำได้เฉพาะกรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เมื่อการมาทำงานสายไม่ได้ถูกระบุไว้ นายจ้างจึงไม่มีสิทธิหักค่าจ้างของลูกจ้างแต่อย่างใด แต่ในกรณีที่มีการหักค่าจ้างของลูกจ้างกันไปแล้ว พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 ระบุว่า นายจ้างมีหน้าที่ต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้นั้นให้แก่ลูกจ้าง พร้อมทั้งเสียดอกเบี้ยของค่าจ้างที่หักไว้ดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับจากวันที่ถึงกำหนดต้องจ่าย และหากนายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินค่าจ้างดังกล่าว โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างจะต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้าง เมื่อพ้นกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ถึงกำหนด ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน อีกด้วย อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าว ไม่ใช้บังคับกับการลงโทษทางวินัยซึ่งนายจ้างได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ดังนั้น การที่นายจ้างมี "คำสั่งลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างด้วยการตัดค่าจ้าง" เนื่องจากลูกจ้างไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ไม่เชื่อฟัง และแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของนายจ้าง ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่การงาน ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงาน จึงไม่ถือเป็นการหักค่าจ้างแต่อย่างใด และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14036/2555) นอกจากนี้ เนื่องจากเวลาทำงานได้ถูกระบุอยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างชัดเจนมาแล้วตั้งแต่ต้น การที่ลูกจ้างมาทำงานสายเป็นประจำ ย่อมแสดงถึงความไม่ใส่ใจในการทำงานซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัยที่นายจ้างอาจพิจารณาออกหนังสือเตือน และเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ในที่สุด

บทความอื่นๆ