ลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการทำงานเพื่อบุคคลอื่นนั้นเป็นของใคร

330 Views
สตีฟ จอบส์ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท แอปเปิ้ล ชายผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า “นวัตกรรมเป็นสิ่งที่แยกระหว่างผู้นำกับผู้ตาม และสิ่งที่สำคัญสำหรับเขาไม่ใช่เงิน แต่คือการได้สร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก” จากคำกล่าวของจอบส์ หากพูดถึงคำว่านวัตกรรม เราก็มักจะนึกถึงคำว่าทรัพย์สินทางปัญญาคู่กันเสมอ ทรัพย์สินทางปัญญานั้น หมายถึง นวัตกรรมหรือผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้นหรือสร้างสรรค์ของมนุษย์ อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีปัญหามากที่สุดคือ “ลิขสิทธิ์” จึงมีคำถามว่า หากการสร้างสรรค์นั้นเกิดจากการทำงานเพื่อบุคคลอื่น ลิขสิทธิ์นั้นจะเป็นของใคร แอดมินมีคำตอบครับ

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ลิขสิทธิ์ (Copyright)” ไว้ว่าหมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าลิขสิทธิ์นั้นหมายถึงสิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใดๆ อันเกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น ได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณา ไม่ว่าในรูปลักษณะอย่างใด หรือวิธีใด รวมถึงการอนุญาตให้ผู้อื่นมีสิทธิเช่นว่านั้นด้วย ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ลิขสิทธิ์ในงานนั้นย่อมเป็นของพนักงานหรือลูกจ้าง เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นหนังสือกับนายจ้าง แต่นายจ้างก็มีสิทธิที่จะนำงานนั้นออกเผยแพร่ได้ตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานดังกล่าว ส่วนกรณีที่มีสร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่นตามสัญญาจ้างทำของ ลิขสิทธิ์ในงานนั้นย่อมเป็นของผู้ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

# พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
มาตรา 9  งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น
มาตรา 10 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น