การที่ผู้เช่าค้างชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจึงใช้แม่กุญแจล็อกประตูจากด้านนอกขณะที่ผู้เช่าไม่อยู่ เพื่อไม่ให้ผู้เช่าสามารถเข้าไปใช้ทรัพย์สินที่เช่าได้ กรณีดังกล่าวผู้ให้เช่าจะมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่

879 Views
ในเรื่องของสัญญาเช่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านเช่า ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียม ปัญหาหนักใจที่สุดของผู้ให้เช่าคงจะหนีไม่พ้นกับการที่ต้องเสี่ยงว่าผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าอย่างทะนุถนอม และชำระค่าเช่าตรงตามกำหนดระยะเวลาหรือไม่ จึงมีคำถามว่า การที่ผู้เช่าค้างชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจึงใช้แม่กุญแจล็อกประตูจากด้านนอกขณะที่ผู้เช่าไม่อยู่ เพื่อไม่ให้ผู้เช่าสามารถเข้าไปใช้ทรัพย์สินที่เช่าได้ กรณีดังกล่าวผู้ให้เช่าจะมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ แอดมินมีคำตอบครับ
 
ป.พ.พ. มาตรา 537 ระบุว่า “อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น” ส่วนความผิดฐานบุกรุกนั้นมีหลักอยู่ใน ป.อ. มาตรา 362 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” โดยสภาพแล้ว สัญญาเช่าทรัพย์ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุเป็นทรัพย์สิน และถือคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสำคัญ แม้ทรัพย์สินที่เช่าดังกล่าวจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้ให้เช่า แต่เมื่อผู้เช่ายังคงครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น และยังโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าดังกล่าวอยู่ การที่ผู้ให้เช่าใช้แม่กุญแจล็อกประตูจากด้านนอกในขณะที่ผู้เช่าไม่อยู่ ทำให้ผู้เช่าเข้าไปในบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียมดังกล่าวไม่ได้ เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของผู้เช่า ถือได้ว่าผู้ให้เช่าเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองของผู้เช่าโดยปกติสุขแล้ว จึงมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า แม้จะยังไม่ได้เข้าไปในทรัพย์ทรัพย์สินที่เช่าก็ตาม แต่หากมีการกระทำใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองของผู้เช่าโดยปกติสุขแล้ว ก็มีความผิดฐานบุกรุกได้เช่นเดียวกัน
 
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2512 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 29/2511) และ 4477/2531) 

บทความอื่นๆ