เป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่

277 Views
ผู้เสียหายเป็นแม่บ้านของอพาร์ทเม้นท์ ได้รับอนุญาตจากผู้บริหารเดิมให้อยู่อาศัยที่ห้องพักของคนงานชั้นดาดฟ้าของอาคาร ต่อมา อพาร์ทเม้นท์ได้เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ผู้เสียหายได้ออกจากงานแม่บ้านมาช่วยงานผู้บริหารเดิมที่บ้านพักส่วนตัว แต่ยังคงพักอาศัยอยู่ในห้องพักของคนงานชั้นดาดฟ้าเช่นเดิม ผู้บริหารใหม่ได้แจ้งให้ผู้เสียหายย้ายออกไปแต่ผู้เสียหายไม่ได้ปฏิบัติตาม ต่อมา ผู้เสียหายป่วยและเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อออกมาแล้วได้ไปรักษาตัวต่อที่บ้านที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเวลา 6 เดือน แต่ยังคงปิดกุญแจล็อคห้องพักของคนงาน และยังคงเก็บทรัพย์สินส่วนตัวไว้ในห้องพักดังกล่าวด้วย เมื่อกลับมาจะเข้าห้องพักแต่เข้าไม่ได้เพราะผู้บริหารใหม่ได้ให้ช่างประจำอาคารนำกุญแจอีกดอกหนึ่งล็อคประตูห้องพักไว้และแจ้งกับผู้เสียหายว่า "เจ้านายให้ไปพักที่อื่น และจะนำกุญแจมาเปิดห้องให้ขนของออกไป" จึงมีคำถามว่า ผู้บริหารใหม่และช่างประจำอาคารจะมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุก และใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกหรือไม่
 
เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหารอพาร์ทเม้นท์เดิมมาเป็นผู้บริหารใหม่ และผู้เสียหายได้ออกจากการเป็นพนักงานตำแหน่งแม่บ้านของอพาร์ทเม้นท์ สิทธิการพักอาศัยในห้องพักคนงานชั้นดาดฟ้าของอาคารย่อมหมดไป และผู้บริหารใหม่ได้แจ้งให้ผู้เสียหายย้ายออกไปแล้ว ประกอบกับผู้เสียหายไม่ได้พักอาศัยเป็นเวลานาน จึงอาจทำให้ผู้บริหารใหม่เข้าใจว่าผู้เสียหายไม่ต้องการพักที่ห้องพักดังกล่าวอีก การที่ผู้บริหารใหม่ใช้ให้ช่างประจำอาคารนำกุญแจไปล็อคห้อง ถือได้ว่าใช้สิทธิกระทำการในฐานะผู้บริหารคนใหม่ของอพาร์ทเม้นท์ ไม่มีเจตนาล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของผู้เสียหายอันจะถือว่าเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองของผู้เสียหายโดยปกติสุข จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิด ส่วนช่างประจำอาคารกระทำการตามคำสั่งของผู้บริหารใหม่ซึ่งเข้าใจว่าเป็นอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของผู้บริหารใหม่และช่างประจำอาคารจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุก และใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 83,84,362 และ 365
 
(เทียบเคียงคำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 45/2547)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ