พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ได้หรือไม่

322 Views
การได้มีโอกาสไปทำงานที่ต่างประเทศถือเป็นความใฝ่ฝันของคนไทยหลายคนเนื่องจากได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าการทำงานในประเทศไทย จึงเป็นช่องทางของมิจฉาชีพที่มักจะชักชวนเหยื่อผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อไปทำงานที่ต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย โดยอ้างว่ามีงานที่มีรายได้ดีและมีที่พัก เช่น งานร้านอาหาร งานโรงงาน หรืองานสวน เป็นต้น จากนั้นก็จะทำการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าจากเหยื่อ พร้อมทั้งอ้างว่ารู้วิธีหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่เป็นความจริง จากสถิติประเทศที่คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรทส์ ญี่ปุ่น โรมาเนีย และบาร์เรน จนนำมาสู่การแจ้งความร้องทุกข์เป็นคดีอาญา จึงมีคำถามว่า พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ได้หรือไม่
 
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี มีหลักว่า “ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้นั้นถือเป็นความผิดเฉพาะ ไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกงตามป.อ.มาตรา 341 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติให้พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วยตามป.วิ.อ.มาตรา 43 พนักงานอัยการจึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในความผิดฐานดังกล่าว
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2556)
 
# สำหรับผู้ที่สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศ ขอแนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลการทำงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือที่สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1506 กด 2 หรือโทร.1694 ก่อนนะครับ

บทความอื่นๆ