สัญญาจ้างทำของ VS สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน VS สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา

434 Views
ประเภทของสัญญาจ้างถือเป็นปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งในคดีแรงงาน เนื่องจากสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ลองดูตัวอย่างคำถามที่แอดมินได้นำมาในวันนี้นะครับ นายจ้างประกอบกิจการขุดและดูดทรายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผสมคอนกรีตผสมเสร็จหรือเพื่อจำหน่าย ต่อมาได้ว่าจ้างลูกจ้างให้มาทำงานประจำหน่วยบ่อขุดทราย โดยให้ทดลองงานตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2545 มีระยะเวลา 60 วัน ในตำแหน่งพนักงานขับรถแบ็กโฮ ค่าจ้างวันละ 200 บาท ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2545 นายจ้างได้ทำสัญญาจ้างลูกจ้างเป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2545 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2546 ในตำแหน่งพนักงานขับรถแทรกเตอร์ มีหน้าที่ขับรถปรับแต่งหน้าดิน ค่าจ้างวันละ 200 บาท ต่อมาใกล้ครบกำหนดวันที่ 5 มิถุนายน 2546 นายจ้างตกลงระยะเวลาการจ้างใหม่อีก 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2546 ในตำแหน่งพนักงานขับรถแบ็กโฮ ค่าจ้างวันละ 200 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า หากลูกจ้างทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ ต่อมาเมื่อใกล้ครบกำหนดระยะเวลา นายจ้างได้บอกเลิกสัญญาแก่ลูกจ้าง จึงมีคำถามว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นสัญญาจ้างประเภทใด และนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย หรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างหรือไม่
 
สัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ และถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ดังที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ว.3 บัญญัติเป็นกรณีที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 118 ว.1 และเมื่อเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การบอกเลิกสัญญาจ้างจะเป็นผลเมื่อใดจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 17 ว.2 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้...” เมื่อนายจ้างบอกเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างด้วย
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7081/2548)

บทความอื่นๆ