พนักงานสอบสวนจะสั่งให้แพทย์ทำการตรวจร่างกายและเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของผู้ต้องหาที่สงสัยว่าจะกระทำความผิดฐานขับรถในขณะที่มีสารเมทแอมเฟตามีนอยู่ในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้หรือไม่ และผู้ต้องหามีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมให้แพทย์ทำการตรวจหรือไม่

303 Views
จากแนวคิดที่ว่า “พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่เคยโกหกใคร” การตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์จึงได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนในหลายคดี จึงมีคำถามว่า พนักงานสอบสวนจะสั่งให้แพทย์ทำการตรวจร่างกายและเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของผู้ต้องหาที่สงสัยว่าจะกระทำความผิดฐานขับรถในขณะที่มีสารเมทแอมเฟตามีนอยู่ในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้หรือไม่ และผู้ต้องหามีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมให้แพทย์ทำการตรวจหรือไม่
 
ป.วิ.อ.มาตรา 131/1 มีหลักว่า “ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามมาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใดๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ และในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี หากการตรวจพิสูจน์ดังกล่าว จำเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น และผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม หากผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ ให้สั่งจ่ายจากงบประมาณตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานอัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี กำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง” จากคำถามดังกล่าวข้างต้น เมื่อความผิดฐานขับรถในขณะที่มีสารเมทแอมเฟตามีนอยู่ในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสั่งให้แพทย์ทำการเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของผู้ต้องหาได้ การที่พนักงานสอบสวนได้ให้แพทย์ทำการตรวจร่างกายของผู้ต้องหา และผู้ต้องหาทราบคำสั่งแล้ว แต่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยอมให้แพทย์ตรวจโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรจึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งตามป.วิ.อ. มาตรา 131/1 ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ขับรถขณะมีสารเมทแอมเฟตามีนอยู่ในร่างกาย อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหากได้มีการพิสูจน์แล้ว
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2558)

บทความอื่นๆ