การที่ทนายความเรียกค่าจ้างว่าความโดยใช้วิธีแบ่งเอาส่วนจากที่ดินที่พิพาทกันในคดี ถือเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 หรือข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หรือกฎหมายอื่นหรือไม่

450 Views
ปัญหาการเรียกค่าจ้างว่าความถือเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้ที่ประกอบวิชาชีพทนายความ เพราะถือเป็นศิลปะชั้นสูงอย่างหนึ่งซึ่งต้องอาศัยความมีชื่อเสียงและประสบการณ์ของทนายความในการเจรจา เนื่องจากอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย หรือข้อบังคับต่างๆ จึงมีคำถามว่า การที่ทนายความเรียกค่าจ้างว่าความโดยใช้วิธีแบ่งเอาส่วนจากที่ดินที่พิพาทกันในคดี ถือเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 หรือข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 หรือกฎหมายอื่นหรือไม่
 
การที่ทนายความเรียกค่าจ้างว่าความจากลูกความโดยใช้วิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้จากคู่ความนั้น ไม่เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 แต่การที่ทนายความได้ค่าจ้างว่าความเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ลูกความพิพาทกับบุคคลอื่นนั้น ย่อมทำให้ทนายความเป็นผู้เข้าไปมีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวโดยตรง เพราะหากลูกความแพ้คดีแล้ว ทนายความก็จะไม่ได้ค่าจ้างว่าความ ซึ่งแสดงว่าสัญญาจ้างว่าความมีลักษณะเป็นการรับโอนสิทธิในการดำเนินคดีของลูกความมาจัดการให้ โดยขอรับส่วนแบ่งจากที่ดินเป็นค่าตอบแทนเมื่อลูกความชนะคดี อันเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. ม.150
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2542)

บทความอื่นๆ