การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีแพ่ง จะต้องกระทำภายหลังการฟ้องคดีเท่านั้นหรือไม่

304 Views
การไกล่เกลี่ย คือ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative dispute resolution (ADR)) โดยที่มีบุคคลที่สามเป็นคนกลางในการช่วยเหลือ แนะนำ และเสนอแนะหาทางออกในการยุติหรือระงับข้อพิพาทให้คู่ความต่อรองกันได้สำเร็จ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาล หมายถึง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลตั้งแต่ชั้นรับฟ้องจนถึงก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพื่อเป็นการช่วยให้คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ เช่น คดีกู้ยืม ค้ำประกัน ซื้อขาย เช่าทรัพย์ ครอบครัวและมรดก เป็นต้น เมื่อการประนีประนอมยอมความต้องเกิดจากความสมัครใจของคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญ จึงมีคำถามว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีแพ่ง จะต้องกระทำภายหลังการฟ้องคดีเท่านั้นหรือไม่
 
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2563 มาตรา 3 ได้เพิ่มเติม ป.วิ.พ.มาตรา 20 ตรี ประกอบข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง พ.ศ.2563 เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่มีกรณีพิพาททางแพ่งใช้เป็นช่องทางในการยุติข้อพิพาทก่อนที่จะมีการฟ้องคดี ซึ่งมีหลักว่า “ก่อนยื่นฟ้องคดี บุคคลที่จะเป็นคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจหากมีการฟ้องคดีนั้น เพื่อขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ประนีประนอมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในข้อที่พิพาท โดยคำร้องนั้นให้ระบุชื่อและภูมิลำเนาของคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายละเอียดของข้อพิพาท เมื่อศาลเห็นสมควร ให้ศาลรับคำร้องนั้นไว้แล้วดำเนินการสอบถามความสมัครใจของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย ให้ศาลมีอำนาจเรียกคู่กรณีที่เกี่ยวข้องมาศาลด้วยตนเอง โดยคู่กรณีจะมีทนายความมาด้วยหรือไม่ก็ได้ และแต่งตั้งผู้ประนีประนอมดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไปโดยให้นำความในมาตรา 20 ทวิมาใช้บังคับโดยอนุโลม ถ้าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องสามารถตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันได้ ให้ผู้ประนีประนอมเสนอข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นไปตามเจตนาของคู่กรณี หลักแห่งความสุจริต เป็นธรรม และไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก็ให้คู่กรณีลงลายมือชื่อในข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ทั้งนี้ ในวันทำข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่สัญญาอาจร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม พร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นต่อศาล หากศาลเห็นว่ากรณีมีความจำเป็นที่สมควรจะมีคำพิพากษาไปในเวลานั้น ก็ให้ศาลมีคำพิพากษาไปตามข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้โดยให้นำความในมาตรา 138 มาใช้บังคับโดยอนุโลม การขอและการดำเนินการข้างต้น ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล และคำสั่งของศาลที่ออกตามความดังกล่าวให้เป็นที่สุด อย่างไรก็ดี เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ประนีประนอมแล้วแต่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลงโดยไม่เป็นผล หากปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วหลังจากยื่นคำร้องหรือจะครบกำหนดภายใน 60 วันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง ให้อายุความขยายออกไปอีก 60 วันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง”
# กล่าวโดยสรุป การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 20 ตรี คือกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก เพื่อเปิดโอกาสให้คู่ความได้มีโอกาสเจรจาและตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งใช้กับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งได้ทุกประเภท โดยจะมีผู้ประนอมซึ่งศาลจะเป็นผู้กำหนด เป็นสื่อให้คู่ความได้ติดต่อเจรจากัน การขอไกล่เกลี่ยก่อนการฟ้องคดีนี้จะไม่มีค่าธรรมเนียม และหากการประนอมไม่เป็นผล หากอายุความครบกำหนดระหว่างนั้น (ภายหลังยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี) ให้อายุความขยายออกไปอีก 60 วันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอยกเลิกการไกล่เกลี่ยเมื่อใดก็ได้
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ