National Digital ID (NDID) คืออะไร

427 Views
NDID หรือ National Digital ID คือ โครงสร้างพื้นฐานในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลซึ่งเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) โดยใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial recognition) การลงนามด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) และการให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Consent) เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ หรือการสมัครขอสินเชื่อโดยผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ธนาคารหรือสำนักงานด้วยตนเองอีกต่อไป
# ระบบ NDID เป็นบริการที่มีความปลอดภัยสูงด้วยการเข้ารหัสในการรับ-ส่งข้อมูล ระบบจะไม่มีการรวมศูนย์เก็บข้อมูล ดังนั้น ข้อมูลยังคงอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลข้อมูลและให้บริการด้วยเทคโนโลยี Blockchainโดยมี บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทไปรษณีย์ไทย) เป็นผู้ดูแลระบบแต่จะไม่สามารถเห็นข้อมูลใดๆ ของผู้ใช้บริการ
# สมาชิกในโครงสร้างพื้นฐานของ NDID มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1. IdP (Identity Provider) คือ หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่พิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ขอใช้บริการซึ่งจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวน 10 ธนาคารได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต)
2. AS (Authoritative Source) คือ หน่วยงานที่มีการให้หรือจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่ถูกต้อง เพื่อให้ IdP สามารถใช้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของบุคคลหรือตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ได้ เช่น บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) หรือหน่วยงานของรัฐต่างๆ เป็นต้น
3. RP (Relying Party) คือ หน่วยงานซึ่งเป็นผู้ให้บริการโดยตรงกับลูกค้าผู้ขอใช้บริการ ซึ่งต้องการระบบยืนยันตัวตน เช่น บริษัทประกัน หรือผู้ให้บริการสินเชื่อต่างๆ เป็นต้น
# รองรับสถานะความชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
# ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจใช้บริการ NDID สามารถลงทะเบียนในการขอใช้บริการกับธนาคารข้างต้นที่ตนเองมีบัญชีอยู่ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ