การลักทรัพย์ของคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยาที่ต่างประเทศจะได้รับประโยชน์จากเหตุยกเว้นโทษตาม ป.อ.มาตรา 71 หรือไม่

360 Views
เนื่องจาก ป.อ.มาตรา 71 มีหลักว่า “ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 นั้น ถ้าเป็นการกระทำที่สามีภริยากระทำต่อกัน ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ” จึงมีคำถามว่า การลักทรัพย์ของคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยาที่ต่างประเทศจะได้รับประโยชน์จากเหตุยกเว้นโทษตามมาตราดังกล่าวหรือไม่
 
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1459 ว.1 จะบัญญัติว่า “การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้” และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 20 ว.1 บัญญัติว่า “การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์” ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลทั้งคู่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์แห่งการสมรสระหว่างบุคคลดังกล่าวจึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 2 เรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสประกอบด้วย เมื่อมาตรา 1448 บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว” แสดงว่าการสมรสจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสเป็นชายและหญิง การสมรสระหว่างบุคคลดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขของการสมรสตามกฎหมายไทย ทั้งคู่จึงไม่มีสถานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นโทษตาม ป.อ.มาตรา 71 ดังนั้น หากฝ่ายใดลักทรัพย์ของอีกฝ่ายหนึ่งจึงต้องรับโทษในความผิดฐานลักทรัพย์
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2563)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ