การเนรเทศคนต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายออกจากประเทศไทย

356 Views
ปัจจุบันประเทศไทยเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาใช้แรงงาน ทำธุรกิจ หรืออยู่อาศัย ทั้งประเภทที่เข้ามาโดยถูกต้อง และประเภทที่เข้ามาและอยู่อาศัยแบบไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากมีค่าครองชีพไม่สูง หากินง่าย และโดยลักษณะนิสัยของคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี ยิ้มง่าย และเป็นมิตรกับทุก ๆ คน จนบางครั้งทำให้คนต่างด้าวบางคนที่คิดว่าประเทศของตนเองมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าแสดงพฤติกรรมที่เป็นการไม่ให้เกียรติ พูดจาดูถูก และทำร้ายร่างกายคนไทยเสมือนหนึ่งเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศของตนเอง ทั้งที่ความเป็นจริงย่อมไม่มีบุคคลใดในโลกที่ต้องการจากบ้านเกิดหรือประเทศของตนเองเพื่อไปทำงานหรืออยู่อาศัยในฐานะคนต่างด้าวในประเทศอื่น หากบุคคลนั้นมีความสามารถเพียงพอที่จะแข่งขันกับคนในประเทศของตนเองได้ ในกรณีของคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยย่อมถูกจับกุมและดำเนินคดีฐานหลบหนีเข้าเมืองตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 62 ว.1 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่สำหรับคนต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายและไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมจะถูกเนรเทศออกจากประเทศไทยได้หรือไม่
 
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า “เนรเทศ” ไว้ว่าหมายถึง 1.บังคับให้ออกไปเสียจากประเทศหรือถิ่นที่อยู่ของตน หรือ 2.ขับคนต่างด้าวให้ออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งทั้งสองความหมายแผลงมาจากคำว่า “นิรเทศ” ซึ่งมีความหมายว่า การขับไล่ออกจากที่เดิม จึงอาจกล่าวได้ว่า “การเนรเทศ” คือ การทำให้การเข้าประเทศและการอยู่อาศัยที่ชอบด้วยกฎหมายของคนต่างด้าวสิ้นสุดลง ซึ่ง พ.ร.บ.การเนรเทศ พ.ศ.2499 มาตรา 5 ว.1 มีหลักว่า “เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้” และพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 53 มีหลักว่า “คนต่างด้าวซึ่งเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแล้วภายหลังปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 12(7) หรือ (8) หรือเป็นบุคคลตามมาตรา 12(10) หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 43 ว.2 หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 44 หรือเป็นผู้ได้รับโทษตามมาตรา 63 หรือมาตรา 64 ให้อธิบดีเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการ ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ก็ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อสั่งเพิกถอนการอนุญาตต่อไป” จากหลักกฎหมายข้างต้นจึงสรุปได้ว่า แม้คนต่างด้าวจะเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายและไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม หากคนต่างด้าวผู้นั้นกระทำความผิดในราชอาณาจักรไทย หรือทำให้มีเหตุอันควรในการเพิกถอนการอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือเป็นบุคคลที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ หรือมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิง หรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ หรือรัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร หรือไม่แสดงฐานะทางการเงินตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด หรือเป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทย หรือเป็นผู้ที่ไม่สามารถประกอบหาเลี้ยงชีพตนเองได้ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นเพื่อความสงบเรียบร้อย เช่น เพื่อการควบคุมโรคติดต่อร้ายแรง เป็นต้น คนต่างด้าวผู้นั้นก็อาจอยู่ในข่ายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะออกคำสั่งทางปกครองเนรเทศได้เช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อคนต่างด้าวที่ต้องคำสั่งให้เนรเทศ บุคคลผู้นั้นจะต้องออกนอกประเทศและจะเข้ามาในประเทศไทยไม่ได้อีก เนื่องจากคนต่างด้าวนั้นได้กลายเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเข้ามาในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
 
# กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และพัทยา ติด 1 ใน 20 อันดับของเมืองที่มีนักเดินทางต่างชาติมาเยือนเพื่อท่องเที่ยวหรือทำงานมากที่สุดในโลก (ที่มาของข้อมูล : วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี - รายชื่อเมืองที่มีนักเดินทางต่างชาติมาเยือนมากที่สุดในโลก)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ