การใช้บัตรเครดิตของผู้อื่นเกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต

41 Views
- นายผีไม่มีเงินจ่ายค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือจึงขอยืมบัตรเครดิตจากนายเป็ดเพื่อนำไปชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ที่ห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อชำระเงินเสร็จนายผีได้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวชำระค่าน้ำมันขณะขับรถกลับบ้านอีกในเวลา 22.00 น. วันรุ่งขึ้นจึงนำบัตรเครดิตมาคืนให้แก่นายเป็ด ต่อมาธนาคารส่งใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายบัตรเครดิต (E-Statement ) มายังอีเมลของนายเป็ด นายเป็ดจึงสอบถามนายผีเกี่ยวกับยอดค่าใช้จ่ายดังกล่าว นายผียอมรับว่านำบัตรเครดิตไปใช้นอกเหนือจากการชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือจริง แต่ปฏิเสธที่จะชำระเงิน นายเป็ดเกรงว่าตนเองจะติดเครดิตบูโรจึงชำระค่าบัตรเครดิต แล้วนำเรื่องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายผีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด มีคำถามว่า การกระทำดังกล่าวของนายผีมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ มีความเห็นดังนี้ครับ
 
- การที่นายเป็ดมอบบัตรเครดิตให้แก่นายผีเพื่อนำไปชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ เป็นการมอบให้นายผียึดถือบัตรเครดิตไว้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น การที่นายผีนำบัตรเครดิตไปใช้เติมน้ำมันในเวลา 22.00 น. โดยมิได้นำบัตรเครดิตมาคืนให้แก่นายเป็ดโดยทันที แสดงว่านายผีเอาบัตรเครดิตไปจากการครอบครองของนายเป็ดช่วงเวลาหนึ่งอย่างน้อยคือช่วงเวลาที่เอาไปใช้นั่นเอง นายผีจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารบัตรเครดิตของธนาคารอันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งออกให้แก่นายเป็ด ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายเป็ดและธนาคารแล้ว การกระทำของนายผีจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 335(1) และมาตรา 188 นอกจากนี้ การที่นายเป็ดอนุญาตให้นายผีใช้บัตรเครดิตเพื่อนำไปชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ก็มิได้ทำให้นายผีสามารถนำบัตรเครดิตดังกล่าวไปใช้เกินกว่าที่นายเป็ดให้ความยินยอมแต่อย่างใดไม่ การที่นายผีใช้บัตรเครดิตโดยนายเป็ดไม่ยินยอม สั่งการ หรือมอบหมายให้ทำ ย่อมเป็นการทำโดยไม่มีอำนาจ และการกระทำดังกล่าวทำให้นายเป็ดได้รับความเสียหาย จึงเป็นการใช้ และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และเมื่อบัตรเครดิตเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ธนาคารได้ออกให้แก่นายเป็ดเพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด นายผีจึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 269/5, มาตรา 269/6 และมาตรา 269/7 อีกด้วย
 
# (ตามนัยของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6820/2552, 10025/2557 และ 1184 - 1187/2565)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ