พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23/1 บังคับนายจ้างต้องกำหนดให้ลูกจ้าง WFH หรือไม่

154 Views
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 18 เมษายน 2566 นั้น ได้มีการเพิ่มเติมมาตรา 23/1 โดยกล่าวถึงการทำงานนอกสถานที่ทำงานตามปกติของลูกจ้าง จึงทำให้นายจ้างเป็นจำนวนมากเกิดความสงสัยว่า กฎหมายมาตรานี้เป็นการบังคับนายจ้างต้องกำหนดให้ลูกจ้าง WFH หรือไม่
 
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23/1 ว.1 มีหลักว่า “เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง และเป็นการส่งเสริม คุณภาพชีวิตและการทำงานของลูกจ้าง หรือในกรณีมีความจำเป็น นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้าง นำงานในทางการที่จ้างหรือที่ตกลงไว้กับนายจ้างซึ่งมีลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างสามารถ ปฏิบัติงานนอกสถานประกอบกิจการหรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้โดยสะดวกให้ลูกจ้างนำงาน ดังกล่าวไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยี สารสนเทศในสถานที่ใด ๆ ได้” จากข้อความข้างต้น การที่ลูกจ้างจะมีสิทธิทำงานนอกสถานประกอบกิจการของนายจ้าง หรือทำงานที่บ้าน (WFH) นั้น นายจ้างและลูกจ้างจะต้องทำความตกลงร่วมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง หรือในกรณีที่มีความจำเป็น และงานดังกล่าวจะต้องมีลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่อื่นซึ่งเป็นสถานที่นอกสถานประกอบกิจการของนายจ้างได้ด้วย แต่หากลักษณะหรือสภาพของงาน ลูกจ้างจะต้องมาทำงาน ณ สถานประกอบกิจการ หรือไม่ใช่กรณีที่นายจ้างเห็นว่ามีความจำเป็น หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง นายจ้างย่อมไม่อนุญาตให้ลูกจ้างทำงานนอกสถานประกอบกิจการได้ ดังนั้น กฎหมายมาตรานี้จึงมิได้บังคับนายจ้างต้องกำหนดให้ลูกจ้าง WFH แต่อย่างใด
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ