การที่ภริยาเดินทางมาที่ทำงานที่สามีเป็นกรรมการบริษัทอยู่ และกล่าวกับพนักงานหญิงและชายว่า "พวกนางดอกทองระวังตัว อย่ามาแย่งผัวชั้น” และ "ระวังเมียพวกแกให้ดี อย่าให้มายุ่งกับผัวชั้นนะ" จากนั้นจึงขึ้นไปต่อว่าสามีที่ห้องทำงานประมาณ 20 นาที แล้วออกจากบริษัทไป การกระทำดังกล่าวถือเป็นการประพฤติชั่วอันจะทำให้สามีมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าภริยาได้หรือไม่

302 Views
ในทางจิตวิทยานั้น ความหึงหวงเป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์เชิงลบในรูปแบบหนึ่งซึ่งผสมผสานระหว่างความเสียใจ ความโกรธ ความกลัว หรือความหวาดระแวง เมื่อบุคคลรู้สึกถึงสิ่งที่คุกคามความสัมพันธ์ในอนาคตของตน และสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดเพียงแค่ความสัมพันธ์ในรูปแบบของคนรักเท่านั้น อย่างไรก็ดี ความหึงหวงนั้นอาจก่อให้เกิดการกระทำที่ขาดความยั้งคิดขึ้นได้ จึงมีคำถามว่า การที่ภริยาเดินทางมาที่ทำงานที่สามีเป็นกรรมการบริษัทอยู่ และกล่าวกับพนักงานหญิงและชายว่า "พวกนางดอกทองระวังตัว อย่ามาแย่งผัวชั้น” และ "ระวังเมียพวกแกให้ดี อย่าให้มายุ่งกับผัวชั้นนะ" จากนั้นจึงขึ้นไปต่อว่าสามีที่ห้องทำงานประมาณ 20 นาที แล้วออกจากบริษัทไป การกระทำดังกล่าวถือเป็นการประพฤติชั่วอันจะทำให้สามีมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าภริยาได้หรือไม่
 
ป.พ.พ.มาตรา 1516 (2) มีหลักว่า “หากสามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้” ตามปัญหา การที่ภริยาเดินทางมาที่ทำงานที่สามีเป็นกรรมการบริษัทอยู่ และพูดกับพนักงานหญิงและชายว่า "พวกนางดอกทองระวังตัว อย่ามาแย่งผัวชั้น” และ "ระวังเมียพวกแกให้ดี อย่าให้มายุ่งกับผัวชั้นนะ" นั้น แม้จะเป็นการด่าพนักงานด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่ก็ได้กระทำไปด้วยอารมณ์หึงหวงเพื่อเป็นการป้องกันมิให้สามีกับพนักงานหญิงของบริษัทมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน อันจะเป็นสาเหตุทำให้สามีละทิ้งภริยาได้ การกระทำของภริยาดังกล่าวจึงยังไม่ถึงขนาดเป็นการประพฤติชั่วอันจะทำให้สามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร สามีจึงยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องหย่าภริยาได้
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3513/2532)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ