การใช้ Chat GPT เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของผู้อื่นหรือไม่

875 Views
Chat GPT หรือ Chatbot Generative Pre-trained เป็นโปรแกรมซอฟแวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสนทนาโดยใช้ฐานข้อมูลที่เป็นข้อความจากระบบอินเทอร์เน็ตมาวิเคราะห์และประมวลผลคำตอบให้กับผู้ที่ตั้งคำถาม ปัจจุบัน Chat GPT ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและถูกนำมาใช้ในการทำงาน การเขียนบทความทางวิชาการ หรือแม้แต่การทำวิทยานิพนธ์ เมื่อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานนิพนธ์หรืองานเขียนทุกชนิดที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น โดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น จึงมีคำถามว่า การใช้ Chat GPT เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของผู้อื่นหรือไม่
 
การโจรกรรมหรือการลอกเลียนแบบทางวรรณกรรม ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Plagiarism (เพล้-เจอ-ริ-ซึ่ม) หมายถึงการกระทำที่เป็นการแอบอ้างงานเขียนหรืองานวรรณกรรมของผู้อื่นทั้งหมดหรือบางส่วนมาใส่ในงานเขียนหรืองานวรรณกรรมของตนเองโดยไม่มีสิทธิ ไม่ว่าผู้กระทำนั้นจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม ลักษณะของการกระทำดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยการนำความรู้ ข้อมูล คำแปล รูปภาพ แผนภูมิ ตาราง หรือสำนวนภาษาของผู้อื่นมาใช้หรือดัดแปลงเป็นของตนเอง โดยไม่มีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาเพื่อให้สามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องของข้อความ และเป็นการเชิดชูผู้สร้างงานเขียนหรืองานวรรณกรรมดังกล่าว กรณีของ Chat GPT ซึ่งเป็นการนำข้อมูลที่เป็นข้อความจากระบบอินเทอร์เน็ตมาวิเคราะห์และประมวลผลคำตอบให้กับผู้ที่ตั้งคำถาม แต่ไม่มีการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล จึงอาจทำให้ผู้ที่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้แต่มิได้มีการตรวจสอบความเป็นเจ้าของและความถูกต้องของฐานข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของผู้อื่นได้
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ