จ้างทำของกับการมีหลักฐานเป็นหนังสือ

418 Views
ปัญหาตุ๊กตา
 
วันที่ 10 เมษายน 2566 นายเก่งและนายกาจได้ประชุมตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดการจ้างจัดงานวิ่งการกุศลในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เส้นทางถนนสามเสน (บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา) ถึงสนามหลวง โดยมีการตกลงให้นายเก่งบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้อยู่ในภายวงเงินจำนวน 5 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2566 นายเก่งจึงได้นำคณะทำงานลงพื้นที่เพื่อสำรวจเส้นทางการวิ่ง และเตรียมการจัดงานในเบื้องต้น มีการซื้อสายรัดข้อมือ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้บางส่วนเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์การจัดงาน แต่ระหว่างที่นายเก่งและนายกาจมีการเจรจาปรับลดค่าจ้างและรูปแบบการจัดงาน ได้เกิดวิกฤติการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองเนื่องจากมีประชาชนเป็นจำนวนมากออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลบนท้องถนน วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นายกาจจึงแจ้งขอเลื่อนการจัดงานดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นายเก่งจึงมีหนังสือแจ้งยอดสรุปค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นให้แก่นายกาจทราบ เมื่อได้รับหนังสือนายกาจจึงขอปรับลดยอดค่าใช้จ่าย นายเก่งยอมลดให้ แต่นายกาจไม่ยอมชำระเงิน และขอยกเลิกสัญญาจ้างจัดงานในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 โดยอ้างว่ายังไม่ได้มีการทำสัญญาต่อกันและมีการชุมนุมทางการเมืองซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจจัดงานดังกล่าวได้ จึงมีคำถามว่า นายกาจจะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายให้นายเก่งหรือไม่
 
การที่นายเก่งและนายกาจได้ประชุมตกลงเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดการจ้างจัดงานแล้ว แม้นายกาจยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างให้นายเก่งเข้าจัดงานดังกล่าว แต่ตามพฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันนายกาจแสดงออกชัดเจนว่ายินยอมให้นายเก่งเข้าดำเนินการเตรียมการจัดงานและมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นเกิดขึ้นแล้ว แม้ต่อมานายกาจแจ้งขอเลื่อนการจัดงาน การที่นายเก่งมีหนังสือทวงถามค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดงานเบื้องต้นดังกล่าว นายกาจไม่ได้โต้แย้งว่านายเก่งยังไม่ได้เริ่มงาน เพียงแต่โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้าง แสดงให้เห็นว่านายเก่งได้เข้าเริ่มทำงานเบื้องต้นตามความจำเป็นของลักษณะงานวิ่งการกุศลไปบางส่วนตามที่ได้รับการอนุมัติจากนายกาจจริง ซึ่งการงานที่นายเก่งได้กระทำไปนั้นเป็นประโยชน์แก่นายกาจโดยตรง การที่นายกาจมีคำสั่งยกเลิกการจัดงานดังกล่าวโดยยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างต่อกันก็ไม่เป็นเหตุให้นายกาจหลุดพ้นจากความรับผิดชำระค่าจ้างในการงานที่นายเก่งได้ทำไปแล้วบางส่วน เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องการจ้างทำของตาม ป.พ.พ.มาตรา 587 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือสัญญาต่อกัน และการชุมนุมทางการเมืองตามที่นายกาจอ้างยังไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 8 อันจะเป็นผลทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 219 ว.2 และมาตรา 372 ว.1
 
(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2563)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ