ทนายความขอแรงที่ศาลแต่งตั้งมีสิทธิได้รับเงินรางวัลในคดีละเมิดอำนาจศาลหรือไม่

215 Views
ละเมิดอำนาจศาล (Contempt of court) เป็นการกระทำที่ถูกบัญญัติให้เป็นความผิด โดยเป็นผลมาจากการกระทำซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาล เช่น การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อยหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล, การแสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล, การจงใจหรือหลีกเลี่ยงไม่รับคำคู่ความหรือเอกสาร, การตรวจเอกสารซึ่งอยู่ในสำนวนความหรือขอคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 54 ตลอดจน การกล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของศาล ประชาชน คู่ความ หรือแม้แต่พยานแห่งคดีซึ่งอาจจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เป็นต้น อย่างไรก็ดี บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยการไต่สวนและไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำ ป.วิ.อ.มาตรา 173 ว.2 มาใช้บังคับได้ ศาลจึงไม่จำต้องสอบถามผู้ถูกกล่าวหาเรื่องทนายความและตั้งทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลตั้งทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลดังเช่นคดีอาญาทั่วไป และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมไม่ได้ออกระเบียบให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่าย ทนายความจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลดังกล่าว
 
(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2557)
 
# บทความย้อนหลังอ่านได้ที่ https://lombonlawoffice.com/ หรือ “เพจทนายคู่คิด-ปรึกษาปัญหากฎหมาย” ครับ

บทความอื่นๆ