ความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้านั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร

402 Views
หากเราพูดถึงศักดิ์ของกฎหมายไทยนั้น รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงที่สุด กฎหมายอื่นใดจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นนั้น ย่อมถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพื่อการปกป้องประเทศและบุคคลอื่น การใช้เสรีภาพดังกล่าวจนเกินขอบเขตจึงอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นซึ่งหน้าได้ อย่างไรก็ดี พวกเราจะทราบได้อย่างไรว่ากรณีใดเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นซึ่งหน้า เพราะทั้งสองฐานความผิดมีลักษณะของการกระทำที่คล้ายกัน จึงมีคำถามว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้านั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร แอดมินมีคำตอบครับ
 
ในเรื่องความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น มาตราที่สำคัญได้แก่ ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 328 ซึ่งระบุว่า “ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท” ส่วนความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ป.อ. มาตรา 393 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า “หมิ่นประมาท” ไว้ 2 ความหมายคือ 1. การแสดงกิริยาวาจาดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น และ 2. การที่ผู้กระทำใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จากความหมายดังกล่าว ความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงต้องมีบุคคลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป อย่างไรก็ดี การใส่ความนั้น ไม่จำกัดวิธีการและไม่จำเป็นต้องเป็นคำหยาบ อีกทั้งจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง และทำให้ผู้อื่น (ผู้ที่ถูกกล่าวถึง) นั้น ได้รับความเสียหายทางชื่อเสียง กล่าวคือ เป็นการลดเกียรติ หรือคุณค่าของผู้อื่นนั้นโดยอาศัยบุคคลที่ 3 เป็นผู้รองรับการกระทำ (หากไม่มีบุคคลที่ 3 มารับรู้การกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทนั้น ย่อมไม่ครบองค์ประกอบของความผิด) ส่วน “ดูหมิ่น” นั้น หมายถึง การแสดงกิริยาท่าทาง พูด หรือเขียน เป็นเชิงดูถูกเหยียดหยาม ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้านั้นเป็นการทำต่อผู้อื่นโดยตรง จะกระทำต่อหน้าจริงๆ หรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ถูกดูหมิ่นจะต้องอยู่ตรงนั้น หรืออยู่ในระยะที่จะรับรู้การกระทำดังกล่าวได้ เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าวดูหมิ่น ดังนั้น การที่ด่ากันทางโทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล หรือเครื่องมืออุปกรณ์ใดๆ ซึ่งอยู่คนละที่กัน จึงไม่อาจเป็นความผิดซึ่งหน้าได้ นอกจากนี้ การดูหมิ่นซึ่งหน้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วยแต่อย่างใด กล่าวคือ เป็นการลดเกียรติ หรือคุณค่าของผู้อื่นนั้นด้วยตัวของผู้กระทำเอง และเมื่อมีการดูหมิ่นซึ่งหน้าแล้ว ย่อมถือเป็นความผิดสำเร็จทันที การดูหมิ่นซึ่งหน้ามักจะเป็นการด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือกิริยาท่าทาง เช่น ไอ้หน้าโง่ ตอแหล เฮงซวย ชูนิ้วกลางหรือยกเท้าให้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทจะมีอัตราโทษที่สูงกว่า แต่ก็เป็นความผิดอันยอมความได้ ในขณะที่ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้านั้น แม้จะเป็นความผิดลหุโทษ แต่ไม่สามารถยอมความกันได้แต่อย่างใด

บทความอื่นๆ