กรณีซื้อบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตและได้รื้อถอนบ้านไปแล้ว หากบ้านพิพาทจำนองแก่ผู้รับจำนองไว้ก่อน สิทธิของผู้รับจำนองบ้านพิพาทจะระงับสิ้นไปหรือไม่

392 Views
โจทก์รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือบ้าน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 718 จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง และเมื่อบ้านพิพาทเป็นโรงเรือนซึ่งมีอยู่ในขณะที่จดทะเบียนจำนอง การจำนองย่อมครอบคลุมไปถึงบ้านพิพาทด้วย แม้จำเลยจะซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต แต่สิทธิของจำเลยได้มาภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองบ้านพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเหตุที่จะทำให้การจำนองระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เท่านั้น การที่จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทไปไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในทรัพย์จำนองระงับสิ้นไปได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่บ้านพิพาทที่จำเลยซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และมาตรา 702 ว.2 การที่จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองไว้แล้ว แม้จะได้มาโดยสุจริตและได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ก็หาทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เดิมเสียไป จำเลยไม่มีสิทธิในบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์
จำเลยเป็นแต่เพียงผู้ซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลมิใช่เป็นผู้จำนองหรือคู่สัญญากับโจทก์ผู้รับจำนอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในฐานเป็นผู้จำนองต่อโจทก์ การที่จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทขายให้แก่โจทก์ และเมื่อเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่รื้อถอนบ้านพิพาทเป็นต้นไป
 
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1587/2555)
 
👉 ที่มา: บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต ภาค1 สมัยที่ 66 เล่ม 2

บทความอื่นๆ